มมส จัดประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13 From Local to Global in the Context of Thailand 4.0 :จากท้องถิ่นสู่สากลในบริบทประเทศไทย 4.0
วันนี้ (7 กันยายน 2560) ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13 : From Local to Global in the Context of Thailand 4.0 : จากท้องถิ่นสู่สากลในบริบทประเทศไทย 4.0 พร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้มีผลงานตีพิมพ์ดีเด่นและนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ณ ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การจัดการประชุมทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 13 จากท้องถิ่นสู่สากลในบริบทประเทศไทย 4.0 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ของอาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา นักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากงานวิจัย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิชาการใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางการวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีกำหนดการจัดงาน ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2560
ภายในงาน ได้จัดปาฐกถาพิเศษ จากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหาผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การสร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัยพื้นฐาน, อาจารย์ ดร.อุษา กลิ่นหอม ประธานมูลนิธิรักษ์อีสาน ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์, รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ Thailand 4.0 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่อง การบริการวิชาการเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมี การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ การนำเสนอผลงานวิจัย แบ่งกลุ่มตามสาขาวิชาการเป็น 8 สาขา ได้แก่ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาการสารสนเทศ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาศิลปะและสถาปัตยกรรม สาขาบริการวิชาการแก่สังคม และสาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ซึ่งจำนวนผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้มีทั้งหมด 216 เรื่อง จำแนกเป็น การนำเสนอภาคบรรยาย 64 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ 152 เรื่อง โดยมีการประกวดผลงานทางวิชาการทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ อีกทั้งมีการประกวดการนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง/อภิราม ทามแก้ว
ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง